ฆาตกรเยาวชน


     เยาวชนเด็กน่ารัก ที่ทุกคนไม่คิดว่าเด็กจะสามารถเป็นฆาตกรได้ หลากหลายปัจจัยที่ทำให้เยาวชนใช้ความรุนแรงจนไปถึงขั้นร้ายแรงฆ่าคนได้ การเลี้ยงดู ความกดดัน สื่อต่างเช่นหนัง ล้วนเป็นสาเหตุของการใช้ความรุนแรง  เรามีเรื่องราวของ ฆาตกรเยาวชน ถึง 4 คน ทุกเรื่องเป็นเรื่องจริง


     ‘นัทสึมิ ซึจิ’ เด็กสาวผู้เกิดในวันที่ 21 พฤศจิกายน ปี 1992 เมืองซาเซโบ เขตนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น แม้เธอจะมีใบหน้าแสนน่ารักชวนเอ็นดู แต่เพราะเอกลักษณ์ของเธอซึ่งก็คือการยิ้มยกที่มุมปากบ่อยๆ ราวกับเธอกำลังคิดอะไรอยู่ในหัวตลอดเวลา จึงนำมาสู่บรรยากาศแสนลึกลับที่ห้อมล้อมตัวเธออยู่เสมอ ทั้งนี้ อาจเพราะความฉลาดทางสติปัญญา (I.Q.) ของเธอนั้นสูงถึง 140 ตั้งแต่วัยเด็ก บวกกับการที่เธอมักจะค้นคว้าหาความรู้นอกห้องเรียนผ่านการดูหนัง หรือท่องอินเทอร์เน็ต อีกทั้งในตอนที่ทุกคนยังรู้จักเธอในฐานะ ‘นัทสึมิจัง นักเรียนดีเด่น’ เธอยังดูเป็นเด็กร่าเริง ชอบเล่นกีฬาอย่างบาสเก็ตบอล และยังมีเพื่อนสนิทอย่าง ‘ซาโตมิ มิทาราอิ’ ซึ่งหากมองจากตรงนี้...เธอเป็นเพียงแค่เด็กสาวอัจฉริยะธรรมดาคนหนึ่งเสียด้วยซ้ำ


     จนกระทั่งในปี 2004 ชีวิตการเป็นนักบาสเก็ตบอลตัวน้อยของเธอก็มีอันต้องจบลง เมื่อผลการเรียนของเธอตกลงจนถูกผู้เป็นพ่อและแม่สั่งห้าม เพราะสำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว การศึกษา...ถือเป็นเรื่องสำคัญ

และเมื่อกิจกรรมกลางแจ้งต้องจบลง
กิจกรรมในบ้าน...จึงต้องเข้ามาแทนที่

     การดูหนังและท่องอินเทอร์เน็ตกลายมาเป็นช่องทางระบายความเครียดที่เหลืออยู่ของเด็กหญิงนัทสึมิ เพียงแต่หนังเรื่องโปรดของเธอนั้น เธอกลับเทใจไปที่ Battle Royale และโลกอินเทอร์เน็ตที่เธอท่องนั้น...คือ Tor Browser หรือที่บางคนอาจรู้จักกันดีในฐานะ ‘โลกของ Dark Web’

หยาดเลือด เศษเนื้อ...และการฆ่าฟัน
ไม่อาจสร้างความกลัวต่อเด็กหญิงนัทสึมิในที่สุด

     นอกจากนี้จินตนาการของเธอยังถูกถ่ายทอดลงสู่นิยาย และไดอารีส่วนตัวของเธออีกหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ 27 พฤษภาคม ปี 2004 ซาโตมิ มิราทาอิ ได้โพสต์ข้อความลงในเว็บบอร์ดของนัทสึมิด้วยคำว่า ‘โอะโมอิ’ ซึ่งมีความนัยตรงกับคำว่า ‘อ้วน’ สำหรับซาโตมิ มันอาจเป็นเพียงการหยอกล้อของเด็กสาวในวัยย่างเข้าสู่วัยรุ่น แต่สำหรับนัทสึมิ มันคือถ้อยคำดูหมิ่น จนนำมาสู่ความขัดแย้งกันด้วยความไม่พอใจบนโลกออนไลน์ระหว่างเด็กสาวสองคนในที่สุด

และนั่นคือครั้งแรก
ที่นัทสึมิเริ่มมีความต้องการที่จะ ‘ฆ่าคน’


     28 พฤษภาคม ปี 2004 นัทสึมิ ซึจิ บรรยายวิธีการฆ่าคนถึง 3 แบบลงในไดอารี นั่นคือ คัตเตอร์ปาดคอ สว่านเจาะน้ำแข็งทะลุกะโหลก และอุ้งมือบีบคอให้ตาย ซึ่งแน่นอนว่าเหยื่อในจินตนาการของเธอก็คือ...ซาโตมิ มิทาราอิ พร้อมทิ้งท้ายข้อความในไดอารีว่า…

“ฉันอยากจะฆ่ามันวันนี้แหละ
แต่ยัง...ฉันยังทำไม่ได้”


     29 พฤษภาคม ปี 2004 ซาโตมิ มิทาราอิ ได้รับข้อเสนอสุดท้ายจากนัทสึมิด้วยการพูดขอโทษเธอภายในเว็บบอร์ด แต่คำที่ซาโตมิมอบให้นั้น กลับเป็นคำว่า ‘อวดเก่ง’ ซึ่งนั่นทำให้เธอได้รับข้อความสุดท้ายจากเพื่อนรักทันที

“แกหายไปจากโลกนี้ซะเถอะ!”


31 พฤษภาคม ปี 2004: “วันพรุ่งนี้...ฉันจะฆ่ามันด้วยคัตเตอร์”


     เช้าวันที่ 1 มิถุนายน ปี 2004 นัทสึมิ ซาโตมิ เพื่อนร่วมห้องคนอื่นๆ และครูในโรงเรียนได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่ในเวลาพักกลางวัน ซาโตมิ จะถูกนัทสึมิเรียกไปในห้องเรียนว่างห้องหนึ่งบนชั้นสามของอาคารเรียน…

     ภายในห้องที่ปิดม่านทึบ ซาโตมินั่งลงบนเก้าอี้ตัวหนึ่งที่ตั้งกลางห้อง และได้พบกับนัทสึมิที่พูดอย่างหนักแน่นว่า “ฉันจะฆ่าเธอ” แต่เพราะไม่ได้คิดว่าเด็กสาวอัจฉริยะจะฆ่าเธอจริงๆ ความคิดหนี จึงไม่ได้อยู่ในหัวของซาโตมิแต่อย่างใด

     นัทสึมิ ซึจิ จึงเดินเข้ามา ถอดแว่นของเด็กสาวผู้โชคร้ายออก ก่อนจะปิดตา แล้วใช้คัตเตอร์กรีดเข้าที่คอของอดีตเพื่อนรักจนเกิดบาดแผลลึก และยาว 10x10 เซนติเมตรทันที ก่อนนัทสึมิจะกรีดหลังมือขวาของซาโตมิอีกแผลลึกจนเห็นกระดูก…

     15 นาทีผ่านไป...เมื่อคิดว่าประจวบเวลาพอดีที่อดีตเพื่อนรักจะเสียเลือดจนตายสนิทแล้ว เธอจึงเดินออกจากที่เกิดเหตุไปในที่สุด

     ถึงเวลาคาบเรียนยามบ่าย เสียงหวีดร้องด้วยความตกใจและหวาดกลัวจากครูและเพื่อนร่วมชั้นดังระงม เมื่อเห็นว่า นัทสึมิ ซึจิ เด็กสาวอัจฉริยะประจำโรงเรียน เดินเข้ามาในห้องพร้อมคราบเลือดที่เปียกโชกไปทั้งเสื้อของเธอ ส่วน ซาโตมิ มิทาราอิ นั้น แพทย์แจ้งว่าเธอยังไม่ได้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ แต่ก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา

และในขณะที่ครูตัดสินใจแจ้งตำรวจ
และเพื่อนร่วมชั้นพยายามจะถ่ายรูปเธอ
เธอ...หันมายิ้มให้กล้อง
ด้วยรอยยิ้มมุมปากอย่างที่ทุกคนคุ้นเคย


ภายในสถานีตำรวจ...หลังตำรวจควบคุมตัวเธอมาได้ คำขอโทษด้วยความเสียใจ ต่างพร่างพรูออกมาในที่สุด แต่ก็ต้องใช้เวลาถึง 1 คืนเต็มๆ กว่าที่เธอจะสงบลง และเริ่มให้การกับตำรวจ

“ซาโตมิเขียนว่าร้ายหนูในเน็ตหลายครั้งแล้ว
หนูไม่ชอบ...หนูเลยเรียกเขามาแล้วเชือดคอ
แต่หนูก็ไม่เข้าใจว่าทำไมหนูถึงกล้าทำแบบนั้น
หนู...อยากขอโทษ”


     คำให้การของเธอทำให้เธอถูกส่งตัวเข้าพบจิตแพทย์ โดยมีคำวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเธออาจป่วยเป็นโรคแยกตัวจากสังคม เพราะพฤติกรรมก่อนก่อเหตุของเธอ และหลักฐานอย่างไดอารีประจำตัวของเธอ แต่เมื่อเข้ารับการตรวจจริง กลับไม่พบความผิดปกติทางสมองของเธอแต่อย่างใด หากแต่เป็นผลจากการเลี้ยงดูที่กดดัน และการเสพสื่อบนโลกอินเทอร์เน็ตของเธอมากกว่า ที่หล่อหลอมให้เธอมีความกล้าตัดสินใจลงมือก่อเหตุ จิตแพทย์จึงลงความเห็นได้เพียงว่า...สุขภาพจิตของเธอสมบูรณ์ดี

นัทสึมิ ซึจิ
จึงถูกศาลตัดสินให้มีความผิดจริง
และถูกจำคุก
ในข้อหาฆาตกรรม

อิทธิพลจากคดีฆาตกรรมของนัทสึมิ ซึจิ ส่งผลให้ทางการญี่ปุ่นออกมาตรการให้มีการอบรมมารยาทในการใช้อินเทอร์เน็ตของเยาวชนทั่วญี่ปุ่น


     นอกจากนี้ นัทสึมิ ซึจิ ยังถูกตั้งฉายาว่า ‘Nevada-Tan’ (เนวาด้าจัง) จากเสื้อกันหนาวสีน้ำเงินของเธอในวันก่อเหตุที่ปักคำว่า NEVADA ไว้กลางอก จนกลายเป็นบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มวัยรุ่นญี่ปุ่นอีกมากมายในการสร้างผลงานผ่านสื่อ ทั้งแฟนอาร์ต หรือการคอสเพลย์ ไปจนถึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้กำกับชาวญี่ปุ่นอย่าง ‘เท็ตสึยะ นาคาชิม่า’ ในการสร้างภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า ‘Confessions’ [Kokuhaku] ที่เล่าถึงประเด็นการกลั่นแกล้งกันของเยาวชนในโรงเรียนจนนำไปสู่ความตายของเด็กคนหนึ่ง ก่อนจะตามมาด้วยการแก้แค้นแสนอำมหิตของผู้เป็นแม่ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนเดียวกับผู้ก่อเหตุ โดยมีตัวละครอย่าง ‘มิสึกิ คิตาฮาระ’ เด็กสาวลึกลับผู้มีโค้ดเนม ‘NEVADA’ ในโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อเป็นการให้ความเคารพต่อบุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจของผู้กำกับในการถ่ายทอดประเด็นนี้ในหนัง ซึ่งก็คือ...นัทสึมิ ซึจิ

ปัจจุบัน นัทสึมิ ซึจิ พ้นโทษแล้วหลังจบการศึกษาจากโรงเรียนดัดสันดานแห่งหนึ่งเมื่อปี 2013 และปีนี้ เธอจะมีอายุครบ 27 ปีบริบูรณ์


     ย้อนกลับไปในปี 1957 เมืองนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ วันที่ 25 พฤษภาคม ‘แมรี่ เบลล์’ ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างไม่เต็มใจจากแม่ผู้ประกอบอาชีพหญิงขายบริการประเภท BDSM (โซ่ แซ่ กุญแจมือ) กับพ่อผู้สนุกกับการลักเล็กขโมยน้อยในทรัพย์สินของผู้อื่น และคำพูดแรกที่เธอได้ยินจากปากผู้เป็นแม่ในวินาทีที่ลืมตาดูโลก แม้ว่าเธอจะยังจำความไม่ได้นั้นก็คือ…

“เอาเจ้าสิ่งนั้นออกไปไกลๆ ฉัน”


     4 ปีต่อมา… ‘เบตตี้ เบลล์’ ผู้เป็นแม่วัย 21 ปีเริ่มมีความคิดอยากจะจบชีวิตเด็กหญิงแมรี่ด้วยการหลอกให้เธอกินยาลดความอ้วนแทนขนม อีกทั้งยังถูกเบตตี้บังคับให้ ‘รับแขก’ ตั้งแต่ตอนนั้น แม้ว่าเด็กหญิงแมรี่จะยังมีอายุได้เพียง 4 ขวบก็ตาม

จนกระทั่งในวันที่ 25 พฤษภาคม ปี 1968 แมรี่ เบลล์ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 11 ของชีวิต และสิ่งที่เธอทำเพื่อเป็นการฉลองครบรอบวันเกิดของเธอนั้นก็คือ

การฆาตกรรมเด็กชายมาร์ติน บราวน์ วัย 4 ขวบ
จนถึงแก่ความตาย

และเมื่อตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งก็คือบ้านร้างหลังหนึ่ง หลักฐานอื่นๆ ที่พบนอกจากศพแล้ว กลับมีเพียงแค่...เศษกระดาษจำนวนหลายต่อหลายแผ่นที่เขียนด้วยลายมือไม่บรรจงว่า

“เจ้ามาร์ตินโดนกรอกปากจนตาย
มันสนุกเป็นบ้า
ทั้งหมดนี่แมรี่เป็นคนทำ”

     โดยศพของเด็กชายมาร์ตินนั้น ตำรวจพบในสภาพกำลังนอนหงายท่ามกลางพื้น มีเลือดไหลออกจากปาก แก้มและคางมีน้ำลายเลอะเทอะอยู่ พร้อมขวดยาแอสไพรินที่ตกอยู่ข้างๆ และด้วยความที่ไม่มีหลักฐานและพยานในที่เกิดเหตุใดๆ เพิ่มเติม ตำรวจจึงสรุปได้เพียงว่าเด็กชายมาร์ตินเลือดออกในสมองจนตายเพราะกินยาผิดประเภท และแม้ว่าจะมีชื่อของแมรี่อยู่บนกระดาษโน้ต แต่ตำรวจกลับไม่ใส่ใจอะไรเสียด้วยซ้ำ เพราะคิดว่าชื่อที่อยู่ในกระดาษโน้ต ต่อให้เป็นเบาะแสฆาตกรรมจริง ก็คงเป็นเพียงการล้อเล่นของฆาตกร ไม่เกี่ยวอะไรกับใครก็ตามที่ชื่อแมรี่จริงๆ คล้ายๆ กับเกม ‘ไซมอนสั่ง’

เพราะคงไม่มีใครคิดว่าฆาตกรจะชื่อแมรี่จริงๆ
และเธอมีอายุเพียง 11 ปี


ไม่กี่วันต่อมา… ป้าของมาร์ติน ได้พบกับแมรี่ที่เจ้าตัวเป็นฝ่ายเดินเข้ามาทักทายเอง และสิ่งที่เธอพูดกับผู้เป็นป้าของมาร์ตินนั้นก็คือ…

“มาร์ตินตายแล้วคุณเหงารึเปล่า?
คุณร้องไห้บ้างรึเปล่า?”


     แต่ถึงอย่างนั้น แมรี่ เบลล์ ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากใครอยู่ดี เพราะพฤติกรรมที่โกหกเพื่อเอาตัวรอดของเธอจนคนอื่นเชื่ออยู่เป็นประจำ...แม้ว่าคุณครูประจำชั้นของเธอจะพบสมุดประจำตัวของเธอที่มีรูปวาดเด็กชายนอนตายพร้อมขวดยาตกอยู่ข้างๆ ก็ตาม

     แน่นอนว่าการที่เธอฆ่าเด็กชายมาร์ตินสำเร็จ มันก็ไม่ต่างจากชัยชนะครั้งแรกที่เธอได้เอาชนะใครสักคน และการที่ไม่มีใครสงสัยในตัวเธอ ก็คงเปรียบเหมือนการที่เธอเยาะเย้ยคนอื่นว่าไม่มีใครทำอะไรเธอได้ หลังจากที่เธอตกเป็นผู้ถูกกระทำมาตลอด 11 ปีโดยฝีมือของผู้เป็นแม่และพ่อแท้ๆ

ศพที่ 2
จึงตามมาในที่สุด

     11 กรกฎาคม 1968 แมรี่ เบลล์ ลงมือฆาตกรรมอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้มี ‘นอร์มา จอยซ์ เบล’ มาร่วมก่อเหตุ และเหยื่อผู้โชคร้ายคือ เด็กชายไบรอัน ฮาว วัย 3 ขวบ โดยใช้มือบีบคอเช่นเดิมจนเด็กชายแน่นิ่งไป แล้วใช้อิฐบล็อกทุบเข้าที่ศีรษะซ้ำเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กชายผู้โชคร้ายเสียชีวิตแล้วจริงๆ ก่อนจะทิ้งสัญลักษณ์เอาไว้ ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่การเขียนใส่เศษกระดาษแต่อย่างใด…

แต่เป็นการใช้กรรไกรกร้อนผม
ตัดอวัยวะเพศออก
เฉือนหน้าแข้ง
และกรีดหน้าท้องเพื่อสลักตัวอักษร
‘M’

     31 กรกฎาคม 1968 ตำรวจนิวคาสเซิลพบศพเด็กชายไบรอัน ฮาว ในสภาพดังกล่าว ก่อนส่งให้นิติเวชชันสูตร และได้ผลลัพธ์ออกมาว่า เด็กชายไบรอันเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ทำให้ตำรวจพุ่งเป้าไปที่การฆาตกรรมทันที เนื่องจากหลักฐานในที่ก่อเหตุนั้นเด่นชัดกว่าคดีของเด็กชายมาร์ติน บราวน์ ทั้งอิฐบล็อกที่เปรอะคราบเลือด กรรไกรที่บิ่นงอ และผู้ลงมือต้องเป็นเด็ก เพราะแรงมือของเด็กจะไม่ทิ้งร่องรอยฟกช้ำรูปนิ้วมือแบบผู้ใหญ่ แต่ทางตำรวจเลือกที่จะปิดเรื่องการพบกรรไกรในที่เกิดเหตุไว้เพื่อการจับพิรุธในการสอบปากคำผู้ต้องสงสัย

     ในเวลาต่อมา มีเด็กอายุ 3-15 ปีในนิวคาสเซิลกว่า 1200 คนถูกเรียกตัวเข้าสอบปากคำกับทางตำรวจ พร้อมทั้งทำแบบสอบถาม ก่อนที่ 1000 คนจะถูกปัดตกทันทีเพราะตอบคำถามในแบบสอบถามไม่ตรงประเด็น ก่อนที่แมรี่ เบลล์ จะตกเป็นผู้ต้องสงสัยในที่สุดเพราะการสอบปากคำที่แมรี่เล่าว่าเห็นเด็กชายคนหนึ่งมีดอกไม้สีม่วง และถือกรรไกรไว้กับตัว ซึ่งตรงกับหลักฐานในที่เกิดเหตุที่ทางตำรวจปกปิดไว้ อีกทั้งเด็กชายที่มีดอกไม้สีม่วงนั้นมีพยานยืนยันแล้วว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ ส่วนนอร์มา จอยซ์ เบล ได้ให้การสารภาพจนหมดเปลือกว่าเธออยู่กับแมรี่ในวันเกิดเหตุ และเธอเห็นแมรี่บีบคอเด็กชายไบรอันจนตายจริงๆ


     5 ธันวาคม ปี 1968 แมรี่ เบลล์ และนอร์มา จอยซ์ เบล ถูกนำตัวขึ้นศาล ในระหว่างทาง นอร์มาร้องไห้เพราะความกลัวและรู้สึกผิดตลอดเวลา ทว่าฝั่งแมรี่กลับไม่มีท่าทียินดียินร้ายใดๆ ทั้งสิ้นจนดูเย็นชา อีกทั้งยังพูดประโยคชวนขนลุกเกินกว่าจะเป็นคำพูดของเด็กสาววัย 11 ปีอย่าง…

“ฉันอยากโตขึ้นเป็นพยาบาล...เพราะมันทำให้ฉันเอาเข็มแทงคนได้”
หรือ
“รู้มั้ย...เจ้าไบรอันมันไม่มีแม่...ตายไปก็คงไม่มีใครเสียใจหรอก”

ซึ่งผลของการตัดสินกลับเป็นแค่การส่งแมรี่ เบลล์ ไปบำบัดในสถานกักกันเท่านั้น เพราะจิตแพทย์ตรวจสอบแล้วว่ามีอาการป่วยทางจิตจริง ไม่สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายได้ ส่วนนอร์มา จอยซ์ เบลล์ ถูกตัดสินว่าเป็นแค่ผู้รู้เห็น ไม่ได้มีส่วนร่วมในการลงมือ และยังเป็นเยาวชน จึงถูกปล่อยตัวไปในที่สุด

จนกระทั่งในปี 1980 แมรี่ เบลล์ ในวัย 23 ปีถูกประกาศให้พ้นโทษ โดยได้รับชื่อ และตัวตนใหม่ ก่อนที่ในปี 1984 เธอจะมีลูกสาวและใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษไปกว่า 13 ปี ซึ่งในระหว่างนั้น เธอไม่เคยพูดถึงอดีตให้ลูกสาวเธอได้ยินเลย จนกระทั่งในปี 1998 ผู้สื่อข่าวกลุ่มหนึ่งพบตัวเธอเข้า ทำให้เรื่องราวในอดีตของเธอถูกขุดคุ้ยขึ้นมาอีกครั้งจนเธอกับลูกสาวต้องหนีออกจากบ้านและระเห็ดเร่ร่อนไปเรื่อยๆ

     ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ขุดคุ้ยประวัติ แมรี่ เบลล์ ยังกลายเป็น 1 ในบัญญัติทางกฎหมายสำคัญของอังกฤษในหมวดของสิทธิส่วนบุคคล โดยทางอังกฤษได้บัญญัติข้อบังคับใช้ที่เรียกว่า ‘แมรี่ เบลล์นิรนาม’ ขึ้นโดยประกาศให้แมรี่ เบลล์ ได้เป็นบุคคลนิรนาม ไม่อนุญาตให้สื่อใดๆ สืบประวัติของเธอได้เพื่อรักษาสิทธิส่วนบุคคล


จะเห็นได้ว่า นัทซึมิ สึจิ และ แมรี่ เบลล์ คือกรณีตัวอย่างของเยาวชนที่กลายมาเป็นคนผิด เพียงเพราะการเลี้ยงดูของครอบครัว และสภาพแวดล้อมภายในสังคม
และยังมี ‘ฆาตกรเยาวชน’ อีกจำนวนหนึ่งที่มีจุดร่วมคล้ายกับนัทซึมิ และแมรี่ เบลล์ ซึ่งจุดร่วมนั้นก็คือ ความอัจฉริยะ และการถูกกลั่นแกล้ง อาทิ…

เอ็ดมันด์ อีมิล  เคมเปอร์


     ไอคิว 145 ตั้งแต่อายุ 16 ปี
ฆาตกรรมผู้ปกครอง (ตากับยาย) ด้วยปืนล่าสัตว์
เพียงเพราะอยากรู้ว่า
“จะรู้สึกอย่างไรถ้าได้ฆ่าคน?”
ถูกจับกุมในปี 1964 และถูกปล่อยตัวในปี 1969
ก่อนจะลงมือฆาตกรรมอีกครั้งถึง 6 ศพ




อีริค สมิธ


     ถูกกลั่นแกล้งตลอดมาเพราะความผิดปกติของรูปร่างหน้าตา
จนอายุ 13 ปี จึงลงมือฆาตกรรม 1 ในเด็กที่กลั่นแกล้งตน
โดยการใช้หินทุบจนตาย
แล้วแขวนศพไว้กับต้นไม้รอให้สัตว์ป่ามาแทะกิน
ทั้งนี้ แพทย์วินิจฉัยว่าอาจมีปัญหาด้านควบคุมอารมณ์
จากผลข้างเคียงของแม่ที่ใช้ยารักษาโรคลมบ้าหมูขณะตั้งครรภ์

     ถึงแม้ว่าทั้ง 4 รายจะก่อเหตุแสนอำมหิต แต่ในทางกลับกัน พวกเขาก็เป็นเครื่องเตือนใจชั้นดีให้แก่สังคม ถึงการดูแลบุตรหลานให้ดี เพื่อไม่ให้พวกเขาหลงทางไปสู่หนทางแห่งการหยิบยื่นความตายให้แก่ผู้อื่นเพียงเพื่อหวังจะบรรเทาบาดแผลในจิตใจ

     นอกจากนี้ คดีฆาตกรอายุเยาวชน ยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่สื่อบันเทิงอย่างหนังระทึกขวัญอีกมากมาย ที่เลือกใช้ ‘เด็ก’ เป็นตัวการของคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง นอกจาก ‘ชูยะ วาตานาเบ้’ จาก Confessions หรือ ‘เอสเธอร์’ จาก The Orphan แล้ว ยังมี ‘เควิน’ จาก We need to talk about Kevin ‘อิเลียส และ ลูคัส’ จาก Goodnight Mommy หรือแม้แต่ ‘มาร์ติน’ จาก The Killing of a Scared Deer



ไม่มีความคิดเห็น